3 เทคนิคการดูแลผู้สูงวัย
สภาพร่างกายมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
แต่จะเสื่อมลงมากน้อยแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับการดูแลและการใช้ชีวิตของแต่ละคน
ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีระบบต่าง
ๆ ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพ
และร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยเฉพาะด้านอารมณ์และจิตใจ
ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆ
เราจะพาไปเรียนรู้สามเทคนิคการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดีขึ้น
1.
อาหารดี
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่รับประทานอาหารได้น้อยลง
เนื่องจากอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลง
โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดเฟ้อ
รวมถึงปัญหาช่องปากและฟัน
ส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด
นอกจากนี้ผู้สูงวัยมักดื่มน้ำน้อย
และขาดการออกกำลังกาย
จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก
ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุจึงควรเป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม
เคี้ยวง่าย อาจใช้การหั่น สับ
หรือการปั่นให้อาหารชิ้นเล็ก
รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีปรุงเป็นการนึ่ง
ตุ๋น หรือ ต้มอาหารให้นิ่ม
เน้นการรับประทานผักผลไม้ที่รับประทานง่ายและไม่หวานจัด
เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับวิตามินและกากใยอาหารอย่างพอเพียง
โปรตีนควรเลือกประเภทที่ย่อยง่าย เช่น
เนื้อปลา ไข่ขาว หรือ นม
เลี่ยงการปรุงอาหารรสชาติจัดจ้าน ลดหวาน
มัน เค็ม
รวมถึงดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อย
1-1.5 ลิตรต่อวัน ลดการดื่มน้ำหวาน
แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ
ในช่วยบ่ายหรือเย็นเพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้น
2.
ออกกำลังกายดี
การออกกำลังกายช่วยให้อวัยวะในร่างกายแข็งแรงทุกระบบ
ตั้งแต่ หัวใจ ปอด ระบบขับถ่าย
กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงสมอง
แต่ผู้สูงอายุหลายท่านไม่กล้าออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะพลัดตกหกล้ม
หรือกลัวว่าจะไม่มีแรงออกกำลัง
ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงวัย
เริ่มตั้งแต่จัดกิจกรรมออกกำลังกายที่ปลอดภัยเหมาะสมกับสภาพร่างกายและคอยให้ความช่วยเหลือ
เช่น ช่วยพยุงให้ขยับกายบริหารเบาๆ
พาเดินหรือเดินแกว่งแขนช้าๆ
ช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อ
ให้ได้ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-20 นาที
และค่อยๆเพิ่มความหนักและระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ
หากผู้สูงวัยยังแข็งแรงอยู่
ควรออกกำลังกายให้ครบทั้ง 3 รูปแบบ คือ
1.คาร์ดิโอ (เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ
ปั่นจักรยาน แอโรบิคเบาๆ)
2.เล่นเวทเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
และ
3.ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและฝึกการทรงตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว
เพิ่มเติมตามความเหมาะสมครั้งละอย่างน้อย
30 นาที สัปดาห์ละ 3-5
วัน
3.
อารมณ์ดี
ความเครียด กังวล
คิดลบ
เป็นสารพิษที่รบกวนการทำงานของเซลล์สมอง
ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรพยายามหาวิธีผ่อนคลายจิตใจ
เลือกการพักผ่อนในแบบที่ชอบ เช่น เดินทาง
ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ฟังเพลง เต้นรำ
หรือทำงานอดิเรก จัดสภาพแวดล้อมให้สงบ
สะอาด มีอากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงดังเกินไป
และควรออกมารับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 1
ครั้ง
ผู้ดูแลและครอบครัวควรคอยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเสมอ
เมื่อมีอาการมากจนกระทบต่อการกิน การนอน
การคิดหรือจดจำ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์