ประวัติความเป็นมา


                                                  

          มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามีการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงการแพทย์แผนไทยประยุกต์อยู่แล้ว ได้มีการพัฒนาจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและดูแลผู้สูงอายุด้านการแพทย์ผสมผสาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ การพัฒนาส่งเสริม และสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ประกอบกับการสำรวจ พบว่าพื้นที่ฝั่งภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุ 

          ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ เกิดมาจากนโยบายการจัดเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สาธารณสุขศาสตร์ การแพทย์แผนไทยประยุกต์และการแพทย์ผสมผสาน เพื่อเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นศูนย์กลางการให้บริการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ผสมผสานการ การวิจัยและการฝึกอบรม การให้บริการวิชาการแก่สังคมให้แก่ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป สภามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จึงมีมติอนุมัติให้จัดตั้ง "ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ" ขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เพื่อมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็น มหาวิทยาลัยแม่แบบที่ดีของสังคม ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

          มีการกำหนดรูปแบบการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับช่วงวัยและการดูแลต่อเนื่อง  เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคการเฝ้าระวังและค้นหาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก วิเคราะห์สุขภาพและความต้องการตามช่วงวัยเพื่อการบริการในเชิงรุกและกำหนดแนวทางการดูแลในช่วงก่อนถึงวัยสูงอายุ ครอบคลุมไปถึงเวชศาสตร์ชะลอวัยและการคืนความอ่อนเยาว์ โดยให้บริการทางการแพทย์ผสมผสานทั้งการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ตลอดจนทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงบริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยสำหรับบุคคลทั่วไป โดยยึดนโยบายเอตทัคคะ คือ มุ่งสู่ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุในระดับสากล

          ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุเป็นสถานบริการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สำหรับผู้สูงอายุและสำหรับบุคคลทั่วไป เชิงรุก เป็นสถานการให้บริการทางการแพทย์แบบผสมผสาน เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ โดยในศูนย์บริการนี้ ประกอบด้วยการให้บริการทางการแพทย์ ทั้งแบบแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้ามาใช้บริการมีสุขภาพที่แข็งแรงและป้องกันโรคสำหรับแพทย์ทางเลือก ซึ่งบริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านความงาม การออกกำลังกายและฟื้นฟูสุขภาพด้วย การใช้น้ำหรือธาราบำบัด การนำคุณสมบัติของน้ำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรค หรืออาการผิดปกติต่าง ๆ เชิงรับ เป็นสถานบริบาลผู้สูงอายุโดยเป็นสถานที่ให้บริการสุขภาพองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุ รับดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยให้บริการแบบไป-กลับ พักค้างระยะสั้น และระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการพักเพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องได้รับการดูแลในด้านการรับประทานยา การรับประทานอาหาร การช่วยเหลือเรื่องกิจวัตรประจำวัน ซึ่งต้องให้การดูแลเป็นพิเศษหรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี สามารถมาพักอาศัยได้เช่นกัน เนื่องจากมีบริการดูแลสุขภาพและมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และลดความกังวลของลูกหลานที่ไม่มีเวลาได้

          นอกจากนี้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ ยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรและนักศึกษาการแพทย์แบบผสมผสานด้านการดูแลผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ชะลอวัยอีกทั้งยังเป็นศูนย์ให้บริการวิชาการ การวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม เช่น ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในมิติทางสังคมให้ความรู้ ด้านการใช้สมุนไพรในท้องถิ่น การป้องกันตนเองจากไวรัส Covid-19 สอนทำหน้ากากผ้ารวมทั้งมอบหน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจลและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม

          ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นการนำนโยบายด้านผู้สูงอายุ มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน โดยอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เช่น ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม พัฒนาระบบข้อมูลอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ด้วย Application และโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะความรู้หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น 18 ชั่วโมง ให้กับอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

          การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุนั้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความเชี่ยวชาญของบุคลากร ที่มีความต้องการจะเป็นผู้นำในด้านของการดูแลผู้สูงอายุ นำศาสตร์การแพทย์หลากหลายแขนงมาปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งในด้านของสุขภาพและการดำเนินชีวิต เนื่องจากผู้สูงอายุมีปัญหาและความต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุให้แก่บุคลากร นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุในระดับสากล

          เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัย คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงชื่อศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ เป็น "สถาบันส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพสังคมสูงวัย (Health Promotion and Development Institute for Aging Society)" เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ว่าด้วยการบริหารและการดำเนินงานสถาบันส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพสังคมสูงวัย พ.ศ. 2565 เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565

                      

ชื่อหน่วยงาน

          ภาษาไทย          สถาบันส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพสังคมสูงวัย

                                    มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

          ภาษาอังกฤษ   Health Promotion and Development Institute for Aging Society

                                   Suan Sunandha Rajabhat University       


เหตุผลและความจำเป็น

          ประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society)  เนื่องจากการลดลงอย่างรวดเร็วของภาวะเจริญพันธุ์ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรทุกกลุ่มอายุ ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศที่ส่งผลให้ ประชาชนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ทําให้แนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนและสัดส่วน คาดการณ์ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลไทยตระหนักถึงการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้สูงอายุจึงให้มีนโยบายที่ตอบสนองและรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้มีกฎหมายและข้อบังคับกับการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 


วัตถุประสงค์ ในการดำเนินงาน คือ
          1. วิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
          2. ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม
          3. สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน
          4. ให้บริการด้านสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ