หน้าหลัก > ข่าว > สาระน่ารู้ > นวดรักษา ต่างจาก นวดผ่อนคลายอย่างไร ?
นวดรักษา ต่างจาก นวดผ่อนคลายอย่างไร ?

admin eecskm
2020-07-21 15:56:32

 

เกร็ดความรู้

นวดรักษา / นวดผ่อนคลาย...ต่างกันอย่างไร?



คัมภีร์ชวดาร ระบุว่า "...ถ้าลมจำพวกใดบังเกิดขึ้นในเส้น ชอบนวดแลยาประคบ กินยาแก้ลมในเส้นจึงหาย..." หมายความว่า หากอาการผิดปกติหรือโรคเกิดขึ้นจากเส้นเอ็น (นหารู) วิธีการรักษาที่เหมาะสม คือ การนวด การประคบ หรือยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณขับลมในเส้นเอ็น เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ธาตุลมที่กำลังแล้วสามารถเคลื่อนหมุนเวียนได้เป็นปกติ

เนื่องจากเส้นเอ็นมีลักษณะเป็นช่องว่างมีเลือดลมไหลผ่าน หากเลือดลมสามารถเคลื่อนหมุนเวียนได้เป็นปกติ ร่างกายก็แข็งแรงสมบูรณ์ แต่หากมีการติดขัด หรือคั่งค้างของธาตุลม ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือในแนวเส้นใดก็ตามจึงเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยตามทฤษฎีของหัตถเวชกรรมไทย เพราะเส้นเอ็นเป็นช่องทางการเคลื่อนของเลือด (ไฟ) ลมจากแหล่งกำเนิดไปยังปลายเท้า ซึ่งก่อให้เกิดการทำงานของร่างกายเป็นปกติตามแต่ละหน้าที่ของแนวเส้นนั้นๆ คัมภีร ตำราแผนนวดจึงระบุจุดและแนวเส้นที่มักเกิดการติดขัด คั่งค้างของธาตุลม จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติหรือโรคขึ้น

ธรรมชาติของธาตุลมจะเคลื่อนหมุนเวียนได้ต้องสุมรวมให้กำลังแล้วจึงเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งอื่นได้ หลักการของการนวด (หัตถเวชกรรมไทย) ก็เช่นเดียวกัน คือการทำให้ธาตุลม ณ จุด หรือแนวเส้นนั้นๆ มีกำลังมากขึ้นด้วยการกด บีบ เป็นต้น เมื่อธาตุลมมาสุมรวมกำลังแล้วจึงปล่อยออกเพื่อให้ธาตุลมนั้นสามารถเคลื่อนไปตามแนวเส้นของตนได้เป็นปกติ ทั้งนี้ตำราแผนนวดยังระบุว่า เส้นเอ็นของร่างกายมี ๓ ชั้น ตื้น กลาง ลึก ซึ่งสัมพันธ์กับการลงน้ำหลักเพื่อให้เส้นเอ็นนั้นคลายตัว ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

หลักสำคัญของ การนวดรักษา ที่ต่างจาก นวดผ่อนคลาย คือ
๑) รู้ว่าจุด แนวเส้นใดบ้างที่สัมพันธ์กับอาการหรือโรคของผู้ป่วย
๒) รู้ว่าร่างกายของผู้ป่วยมีธาตุลมคั่งค้างอยู่ที่จุด แนวเส้นใดบ้าง
๓) รู้ลักษณะของเส้นเอ็นที่เคร่งตีงจากธาตุลมคั่งค้างอยู่ เส้นเอ็นที่อ่อนนิ่มจากธาตุลมที่เคลื่อนหมุนเวียน และลักษณะธาตุที่ผิดปกติ
๔) รู้น้ำหนักของรสมือที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนหรือจริตผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีธาตุดินเป็นเจ้าเรือนมักรับน้ำหนักมือได้ดี ธาตุไฟ อาจระบมหรือช้ำได้ง่าย ธาตุลม ส่วนลมกองละเอียดต้องใช้รสมือนิ่มนวล ธาตุน้ำ ต้องใช้น้ำหนักนิ่งลึก เป็นต้น
๕) สัมผัสธาตุลมขณะที่กำลังกดลงไปที่เส้นเอ็นว่า มีกำลังเต้นแรงพอแล้วควรปล่อยมือหรือยัง ควรกดซ้ำหรือไม่




ติดตามข่าวสารได้ที่

   Fanpage facebook : ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ มร.สส.

   Website                     : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

                                       : ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ

                                       : Center of Excellence in Elderly Care Services

                                       : 0-3476-477


.