ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี
ต่อเนื่องนานเข้าก็จะสูญเสียความสนใจและแรงจูงใจในการทำงาน ลดลงหรือหมดไป ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ดี เกิดความรู้สึกเป็นลบและเสียใจ ลงท้ายด้วยทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรให้ใครได้
สำหรับแนวทางการรักษาและการป้องกันภาวะหมดไฟ ทำได้โดยใช้หลัก 3 ประการ (3R) ประกอบด้วย
1. การตรวจประเมิน สังเกตอาการ/อาการแสดงเตือนของภาวะหมดไฟ อาจประเมินภาวะหมดไฟได้ โดยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น MBI (Maslach Burnout Inventory) เป็นแบบสอบถามเพื่อประเมินภาวะหมดไฟ
2. การปรับแก้ไข จัดการปรับแก้ไขโดยการหาความช่วยเหลือ และจัดการความเครียด
3. การฟื้นฟู ฟื้นฟูสภาพให้พร้อมรับมือกับความเครียดได้ดีกว่าเดิม โดยดูแลสุขภาพและสุขภาพอารมณ์ให้ดี
วิธีการรักษาและป้องกันภาวะหมดไฟ ได้แก่
1. การขอความช่วยเหลือ การพูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาหารือคนที่อาจช่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว
2. การพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกงานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ทั้งช่วงพัก พักทานอาหารกลางวันและช่วงนอกเวลางาน ในขณะเดียวกันให้ลดการพบปะสังสรรค์พูดคุย กับคนที่ทำให้รู้สึกแย่หรือเป็นลบ
3. การเข้าร่วมกลุ่มที่อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนใหม่ด้วย ทั้งนี้ การเป็นผู้ให้หรือช่วยเหลือผู้อื่น จะมีส่วนช่วยให้เกิดความปลื้มใจและช่วยลดความเครียด แถมยังช่วยให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้นด้วย
4. การปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่ทำ มองหาคุณค่าในงานที่ทำ พยายามทำให้งานและชีวิตอื่น ๆ มีความสมดุล
5. การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยลดความเครียดในการทำงาน และได้ความช่วยเหลือ มีโอกาสทำงานได้ผลดีขึ้น และผ่านเวลาที่ยากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น
6. หยุดพักบ้าง พักร้อนบ้าง พาตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น
ติดตามข่าวสารได้ที่
Fanpage facebook : ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ มร.สส.
Website : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
: ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ